บทความนี้ได้รับการอนุเคราะห์จากรองศาสตราจารย์ ดร.ปังปอนด์ รักอำนวยกิจ จากวิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงปัญหาที่เกิดจากการสอบจนเกินพอดีของระบบการศึกษาไทย ผมคิดว่าถ้ากระทรวงศึกษาไม่แก้ไขปัญหาข้อนี้ เด็กไทยเราก็จะยังวนเวียนกับระบบการศึกษา 1.0 ต่อไป แต่ถ้าแก้ไขได้ ท่านจะช่วยสร้างโลกที่สวยงามให้กับเด็ก (และพ่อแม่ของเด็ก) ทุกคนในประเทศ
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------



หลังวันสอบปลายภาควันสุดท้ายของลูกขณะที่นั่งรถกลับบ้าน ลูกของผู้เขียนถามว่า “แม่ครับขอดูหนังในรถนะครับ” พอแม่ตอบว่า “ได้” มีเสียงดังสวนมาทันที “แม่ในฝัน” วันนั้นผู้เขียนเก็บความทุกข์ไว้ในใจและตั้งใจว่าจะต้องเขียนบทความเรื่องสอบให้ได้

หลังๆมานี้มีบทความจากผู้รู้ต่างๆมากมายเขียนเรื่องการศึกษาไทย และในช่วงที่ผ่านมามีการแชร์กันมากมายเกี่ยวกับคลิปวีดีโอต่างชาติเรื่องการฟ้องระบบการศึกษา (ที่เริ่มจากปลาว่ายน้ำในโถ) และโรงเรียนในเยอรมันที่ให้เด็กเรียนแบบ problem-based learning และไม่มีการสอบจนกว่าจะอายุ 15 ปี ผู้เขียนเองในฐานะนักวิชาการด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และแม่ลูกสองในวัยประถม ก็รอดูว่าอะไรจะเกิดขึ้นต่อไปอย่างไร ผ่านมาหนึ่งสัปดาห์ เราก็ยังแชร์กันเรื่องเดิมๆ เรื่องฟินแลนด์ เรื่องญี่ปุ่น เรื่องเยอรมัน ที่จริงๆนักวิชาการไทยเราก็พูดกันแทบทุกเวที พูดมาเป็นปีๆ ทุกครั้งที่พูดคนฟังก็พยักหน้าเห็นด้วย ผู้จัดสัมมนา/ประชุมก็เห็นด้วย ผู้รู้ต่างๆก็เขียนกันใน Facebook/Line ก็เห็นด้วย แชร์กันจนวนไปมาไม่รู้กี่รอบ พ่อแม่ที่ช้ำที่สุดก็เห็นด้วยและทำได้ดีที่สุดคือเข้าไปเม้นและแชร์ต่อ แต่......ทุกอย่างเหมือนเดิม ไม่มีใครทำอะไร หรือไม่มีใครจริงจังกับเรื่องนี้ เกิดอะไรขึ้นกับประเทศไทย?

สำหรับผู้เขียน เรื่องการศึกษาของลูกหลานไทยต้องเป็นวาระแห่งชาติ เพราะเป็นเรื่องเด็กๆ ลูกหลานเรา เป็นเรื่องอนาคตของเรา 100 % เรามัวแต่ไปพูดถึง Thailand 4.0 แต่การพัฒนาเด็กของเราอยู่เพียงแค่ 1.0 เด็กไทยไม่โง่ เด็กไทยสร้างสรรค์ได้ แต่เด็กไทยกำลังถูกทำร้าย ทำร้ายทางความคิดที่ทุกๆปีเริ่มจาก ป.1 ก็จะมีผู้ใหญ่ มาตีกรอบกรงแล้วเติมฝากรงให้แน่นขึ้นทุกปีด้วยความคิดระบบเดิมๆที่เราเรียกว่า “สอบ” ที่ต้องเป็นคะแนน ที่ต้องตีตราด้วยคำว่า “เกรด” เด็กไทยทุกวันนี้ไม่มีใครอยากไปโรงเรียน ไปโรงเรียนไม่สนุก ไปโรงเรียนแล้วเครียด อยากจะให้ผู้ออกนโยบายการศึกษาทำเรื่องแรกคือ ยกเลิกการสอบในเด็กเล็ก เพราะการสอบเป็นที่มาของหายนะที่เราเผชิญอยู่ เราจะไม่ไปถึง 4.0 แน่นอน

ผู้เขียนไม่แน่ใจว่าระบบความคิดที่ต้องมีการสอบเป็นตัวคะแนนเริ่มมาจริงจังในบ้านเราเมื่อใด สมัยก่อนเราก็สอบ แต่น่าจะเป็นการสอบเพื่อดูพัฒนาการไม่ใช่สอบเพื่อทุกสิ่งทุกอย่างเช่นในสมัยนี้ ตอนนี้เด็กยิ่งสอบยิ่งย่ำแย่เพราะสอบทุกเรื่อง สอบเนื้อหาที่โหดร้ายเกินวัย (สนามฟุตบอลกว้างเท่าไหร่ พระนามเดิมของพระสังฆราชองค์แรกคืออะไร) ท่านทราบหรือไม่ว่าหลักสูตรประถมศึกษาของเรามี 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ บางกลุ่มสาระการเรียนรู้ก็แบ่งออกเป็นเกือบสิบวิชา (เช่นกลุ่มสังคม) บางระดับชั้นต้องเรียนกันเป็นหลายวิชาในแต่ละกลุ่ม ยังไม่รวมภาษาไทยที่มีการฟัง พูด อ่าน เขียน ท่านที่ไม่มีลูกอยู่ในระบบลองนึกภาพว่าเด็กที่ต้องสอบ สอบ สอบ ทุกเรื่อง ทุกวิชา จะเป็นอย่างไร ยังไม่รวมสอบย่อยเก็บคะแนน สอบกลางภาค สอบย่อยอีก และสอบปลายภาค หรือวิชาพละที่ต้องมีการสอบวิ่ง สอบกระโดดเชือก และสอบทฤษฎีด้วยเพราะกลัวว่าเด็กที่วิ่งไม่ได้หรือกระโดดเชือกไม่ได้จะได้คะแนนไม่ดี

ประเด็นคือ เราจะสอบไปทำไม เราให้คุณค่ากับการวัดผลการเรียน/การพัฒนาของเด็กที่ตรงไหน พ่อแม่ต้องมานั่งติวลูกดึกดื่นหรือส่งไปเรียนพิเศษเพราะ “คะแนน” เท่านั้นหรือ สอบวิชานี้เสร็จก็รีบติวอีกวิชา สอบเสร็จแล้วเด็กกับพ่อแม่ก็มีความสุข เอ๊ะและทำไมระบบการศึกษาเราทำให้เด็กมีความสุขได้แค่ตอนที่สอบเสร็จหรือ? ในขณะที่เด็กชาวบ้านที่ด้อยกว่าที่พ่อแม่ไม่มีเวลาและกำลังทรัพย์ให้ก็ต้องสอบตก อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ถึงทุกวันนี้ กลุ่มนี้ทุกข์ทุกวัน

เราพูดกันถึงการพัฒนาขั้น 4.0 ถึงขั้นที่มหาวิทยาลัยเมืองนอกชั้นนำเค้าพูดกันมาเป็นปีๆ ว่าจะไม่มีการกำหนดคณะที่จบอีกต่อไป เราพูดกันถึงทักษะชีวิต ทักษะไอที หรือการใช้ชีวิตอย่างอยู่ดีมีสุข และการเรียนแบบ multi-disciplinary ในระดับมหาวิทยาลัย เราพูดถึงห้องเรียนในบางประเทศที่ไม่ต้องนั่งเรียนเป็นหน้ากระดาน เราพูดถึงการเรียนรู้แบบให้เด็กแก้ปัญหาเป็นโดยการทำงานเป็นกลุ่ม (ซึ่งเป็นทักษะที่จะขาดแคลนสูงในอนาคต) แต่เด็กเล็กของเรายังสอบทุกวิชา สอบท่องคำศัพท์ยากๆ เช่น ยัติภังค์ (ป.2) ในขณะที่ google รองรับ voice recognition แล้ว แต่เราก็ต้องสอบ

สุดท้ายก็จะมีคนเถียงว่า ต้องสอบ เรียนไปก็ต้องวัดผล ผู้เขียนไม่ได้ต่อต้านการวัดผล แต่ถามคำถามว่า
1. วัดผลเพื่ออะไร ถ้าวัดเพื่อดูพัฒนาการ แล้วให้คะแนนเด็กไปทำไม เอาเวลาไปพัฒนาเด็กดีกว่าไปตีตราเด็กเก่งเด็กไม่เก่งดีกว่าไหม เด็กที่กระโดดเชือกไม่ได้ ก็ช่วยให้ทำให้กระโดดได้ดีขึ้น ไม่ใช่ไปสอบทฤษฎีเพื่อเอาคะแนนมาช่วยให้ผ่าน การเรียนรู้อยู่ที่ตรงไหน (ที่น่ากลัวกว่าคือ กระโดดเชือกได้คล่อง แต่ไม่ได้อ่านทฤษฎีมาสอบกลับได้คะแนนรวมไม่ดี) เรากำลังทำวัดผลอะไรอยู่?

2. วัดผลด้วยอะไร ถ้าวัดด้วยการที่เด็กต้องสอบ 10-20 วิชา คิดคะแนนทุกวิชารวมกัน หาค่าเฉลี่ย แล้วตีตราเกรด เราก็ไม่ต่างอะไรไปจากการหาเด็กเทพ เด็กเก่งทุกเรื่อง เคยมีคนถามผู้เขียนว่า “ทำไมจะเอาผลลัพธ์ 2 ต้องเอา 1 บวก 1 เอา 2 บวก 0 ทำไม่ได้ในระบบการศึกษาไทย เพราะนั่นหมายถึงตกในวิชาที่สอง แม้ว่าเด็กคนนั้นจะทำในอีกวิชาได้เลอเลิศ เราจะวัดเด็กเก่งด้วยอะไรกันแน่”

3. วัดผลเพื่อใคร ประเทศไทยไม่อยากได้คนเก่งคะแนนดี แต่เราอยากได้เด็กเก่ง คิดเป็น เอาตัวรอด อยู่ร่วมกับผู้อื่นได้ ซึ่งการสอบทำลายทุกสิ่งนี้โดยสิ้นเชิง เด็กต้องหวาดระแวงกับการสอบ เรียนไม่สนุก ทำงานไม่สนุก ใช้ชีวิตหลังเลิกเรียนไม่สนุกและไม่สร้างสรรค์ พ่อแม่ก็เครียดกลัวลูกไม่ทันคนอื่นเพราะคำตอบในข้อ 1 ไม่เคลียร์ว่าสอบไปเพื่ออะไร เอาเป็นว่าสอบๆ ให้ได้คะแนนดีๆ เผื่อไว้ การเรียนต่อเค้าก็เอาผลคะแนนสอบ คะแนนไม่ดีก็ขาดโอกาสมากมายในชีวิตวนกันไป

ในประเทศรายได้ปานกลางอย่างประเทศไทย การวัดผลการสอบที่เป็นตัวคะแนนจะยิ่งทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำสูงและทิ้งเด็กกลุ่มใหญ่ที่ไม่พร้อมไว้ข้างหลัง ไม่รวมถึงการแก่งแย่งและความเห็นแก่ตัวของเด็กและผู้ปกครองที่จะตามมา เราจะโทษเด็กและผู้ปกครองที่ขวนขวยหาสิ่งที่ดีที่สุดเพื่อให้คะแนนออกมาดีสำหรับบุตรหลานไม่ได้ เราจะโทษครูที่ต้องออกข้อสอบและวัดผลก็ไม่ได้เพราะระบบบอกให้สอบ ต้องให้คะแนนทุกอย่างแม้แต่การปลูกผักปลูกข้าวไปส่งก็วัดผลกันด้วยคะแนน อาจารย์บางท่านอาจจะเถียงว่าให้คะแนนเพื่อกระตุ้นให้เด็กตั้งใจทำ (จริงๆไม่ได้เน้นคะแนน) แต่เชื่อเถอะค่ะว่าเค้าพิสูจน์กันมาหมดแล้วว่า ถ้าไม่ต้องมีคะแนนและเป็นการเรียนแบบ problem-based learning จะกระตุ้นการเรียนรู้ได้ดีกว่า เด็กจะเก่งกว่า cost ต่างๆ มีน้อยกว่า

การสอบจึงเป็นการฆาตรกรรมผ่อนส่งเด็กไทย ร้ายยิ่งกว่าดมควันบุหรี่และเสพสารเสพติดบางอย่าง ที่น่ากลัวมากคือ พ่อแม่ ครูอาจารย์กำลังติดกับดักการสอบเพราะระบบที่เราต้องสอบเพื่อวัดผลเป็นคะแนน พ่อแม่ที่โชคดีหน่อยมีทางเลือกที่รับไม่ได้กับระบบนี้ก็ส่งลูกเข้าเรียนที่โรงเรียนอินเตอร์หรือโรงเรียนทางเลือก (ที่ชีวิตโดยรวมของเด็กดีกว่าชีวิตของเด็กในระบบมากมาย ซึ่งส่วนสำคัญคือเรื่องความแตกต่างของการวัดผลนั่นเอง)

เด็กเล็กชั้นประถมของเราน่าสงสารเป็นที่สุด เปิดเทอมเศร้า ปิดเทอมเฮ เด็กวัยนี้ต้องพัฒนาทักษะด้านอารมณ์และสังคม (non-cognitive skills) ให้มาก เพื่อการคิดวิเคราะห์และการเอาตัวรอดในสังคมที่น่าเป็นห่วงในอนาคต ผู้เขียนมีผลงานวิจัยที่กำลังทำให้กับกองทุนสนับสนุนการวิจัยที่พบว่า เด็กไทยในภาพรวมทำคะแนนการคิดวิเคราะห์ด้านการอ่าน คณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ เฉลี่ยเพียง 37/100 เท่านั้น ไม่แปลกใจที่เราเป็นลำดับท้ายๆในอาเซียน ในขณะที่เราสอบ สอบ สอบ กันตลอดเวลา
ถึงเวลาหรือยังที่เราจะยกเลิกการสอบในระดับประถม ถามว่าจะยกเลิกแล้วไปทำอะไร วัดผลกันยังไง ไม่ต้องกลัวค่ะ มีคนช่วยคิดเยอะ คำถามว่าแล้วจะแก้ระบบที่ตรงไหน ไม่มีคำตอบในบทความนี้ คำถามสำคัญคือระบบอยู่ไหน ระบบเป็นใคร ระบบทำอะไรอยู่ ??? แม้แต่เจ้าหน้าที่ของกระทรวงศึกษาธิการเองก็ตอบว่า “ระบบมันเป็นแบบนี้” เราก็ได้แต่ถอนใจกันต่อไป “ระบบ” ก็คงนั่งถอนใจอยู่ว่าฉันถูกด่ามานานเมิ่อใหร่จะมี “ผู้ใหญ่ในฝัน” มาแก้ไขฉันสักที

ผู้เขียนอยากเห็น “ผู้ใหญ่ในฝัน” จริงๆนะ (ม.44 ก็ดีนะคะ)

ป.ล. เราจะแชร์และเม้นกันต่อไป

รศ.ดร.ปังปอนด์ รักอำนวยกิจ

กำลังโหลด