28 ตุลาคม 2556

ความสม่ำเสมอของผลการดำเนินงานของกองทุนรวมไทย

การศึกษาผลการดำเนินงานของกองทุนรวม (mutual fund performance) และความสม่ำเสมอของผลการดำเนินงานของกองทุนรวม (persistence of mutual fund performance) เป็นงานวิจัยที่ได้รับความสนใจเป็นอย่างมากทั้งในเชิงวิชาการและสำหรับผู้ลงทุนเพื่อเลือกลงทุนในกองทุนรวม โดยมีการศึกษาเชิงประจักษ์จำนวนมาก ที่ทำการศึกษาเกี่ยวกับความสม่ำเสมอของผลการดำเนินงานของกองทุนรวม เพื่อวัดประสิทธิภาพในการดำเนินงานของกองทุนรวม โดยพิจารณาปัจจัยความสม่ำเสมอของกองทุนรวมในการสร้างผลตอบแทนที่ดีกว่าเกณฑ์มาตรฐาน (benchmark) ว่าเป็นส่วนหนึ่งของทักษะที่ผู้จัดการกองทุนพึงจะมี  



อย่างไรก็ตาม การศึกษาความสม่ำเสมอของผลการดำเนินงานของกองทุนรวมตราสารทุน จะมีการศึกษาเป็นอย่างมากในประเทศที่พัฒนาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นประเทศสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร สเปน นิวซีแลนด์ แต่ยังขาดแคลนการศึกษาในประเทศที่กำลังพัฒนา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในประเทศไทย จึงเป็นที่น่าสนใจว่า ผลการดำเนินงานของกองทุนรวมตราสารทุนในประเทศไทยจะมีความสม่ำเสมอหรือไม่ ซึ่งการศึกษาในประเด็นนี้ยังมีความขาดแคลนในประเทศที่กำลังพัฒนา โดยเฉพาะประเทศไทย ที่มีกองทุนรวมตราสารทุนอยู่เป็นจำนวนมาก แต่ยังมีการศึกษาเกี่ยวกับความสม่ำเสมอของผลการดำเนินงานของกองทุนรวมตราสารทุนที่ยังไม่เป็นที่แพร่หลาย

งานศึกษาของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สรศาสตร์ สุขเจริญสิน และ ดร.ปริยดา สุขเจริญสิน ศึกษาผลการดำเนินงานและความสม่ำเสมอของผลการดำเนินงานของกองทุนรวมตราสารทุนในประเทศไทย ในช่วงปี พ.ศ. 2546-2555 และได้ตีพิมพ์งานศึกษาดังกล่าวไว้ในวารสาร NIDA Economic Review ฉบับที่ 2 ปี พ.ศ.2556 การวิจัยนี้ได้ศึกษาผลการดำเนินงานของกองทุนรวมตราสารทุนในประเทศไทยจำนวน 78 กองทุน ในช่วงปี พ.ศ. 2546-2555 โดยผลการศึกษาพบว่า อัตราผลตอบแทนของกองทุนรวมตราสารทุนในประเทศไทยมีความผันผวนไปตามสภาวะเศรษฐกิจ โดยปีที่กองทุนรวมตราสารทุนมีอัตราผลตอบแทนเฉลี่ยต่ำที่สุดคือปี พ.ศ. 2551 ที่เกิดวิกฤติซับไพร์มในประเทศสหรัฐอเมริกา และในภาพรวมแล้ว กองทุนรวมตราสารทุนเพียง 1 ใน 3 เท่านั้นที่สามารถสร้างผลตอบแทนที่เกินปกติเมื่อเทียบกับอัตราผลตอบแทนของดัชนีผลตอบแทนรวมตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET TRI) ที่ใช้เป็นตัวแทนของอัตราผลตอบแทนของตลาด ซึ่งกองทุนรวมตราสารทุนของไทยส่วนใหญ่มีผลการดำเนินงานที่สามารถชนะตลาดได้ในตลาดขาลง นอกจากนี้ จากการวิเคราะห์อัตราผลตอบแทนปรับความเสี่ยง คือ อัตราส่วนชาร์ป (Sharpe ratio) นั้น ผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่า กองทุนรวมตราสารทุนส่วนใหญ่จะมีอัตราผลตอบแทนปรับความเสี่ยงที่สูงกว่าอัตราผลตอบแทนปรับความเสี่ยงของตลาดในช่วงตลาดขาลง ซึ่งสอดคล้องกับผลการศึกษาก่อนหน้า

ในเรื่องของความสม่ำเสมอของผลการดำเนินงานของกองทุนรวมตราสารทุน การศึกษานี้ใช้วิธีวิเคราะห์โดยการเปรียบเทียบผลการดำเนินงานของกองทุนรวมตราสารทุนกับเกณฑ์มาตรฐาน (benchmark) ต่างๆ ทั้งค่ามัธยฐาน (median) และค่าเฉลี่ย (mean) ของอัตราผลตอบแทนของกองทุนรวมตราสารทุน รวมถึงอัตราผลตอบแทนของดัชนีผลตอบแทนรวมตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET TRI) โดยการศึกษาพบว่า กองทุนรวมตราสารทุนส่วนหนึ่งสามารถรักษาผลการดำเนินงานให้สูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานทุกเกณฑ์ได้อย่างสม่ำเสมอในทุกปีตลอดช่วงปี พ.ศ. 2546-2551 แต่ในช่วงหลังเกิดวิกฤติซับไพร์ม ไม่มีกองทุนใดเลยที่สามารถรักษาความสม่ำเสมอของผลตอบแทนให้สูงกว่าตลาดได้ตลอดช่วงระยะเวลาปี พ.ศ. 2552-2555 ในขณะที่ 1 ใน 3 ของกองทุนรวมตราสารทุนมีผลการดำเนินงานที่แย่อย่างสม่ำเสมอในช่วงเวลานี้


นอกจากนี้ จากการจัดอันดับกองทุนรวมตราสารทุนตามอัตราผลตอบแทนของกองทุนในแต่ละปี พบว่า ในช่วงแรกของการศึกษา คือระหว่างปี พ.ศ. 2546-2551 กองทุนรวมตราสารทุนที่สามารถรักษาผลการดำเนินงานที่ดีได้อย่างสม่ำเสมอ (best-best) นั้น มีจำนวนมากกว่ากองทุนรวมตราสารทุนที่มีผลการดำเนินที่แย่อย่างต่อเนื่อง (worst-worst) แต่ภายหลังจากปีที่เกิดวิกฤติซับไพร์ม กลับพบว่า กองทุนรวมตราสารทุนที่สามารถรักษาผลการดำเนินงานที่ดีอย่างสม่ำเสมอนั้น มีจำนวนน้อยกว่ากองทุนรวมตราสารทุนที่แย่อย่างสม่ำเสมอ จึงอาจกล่าวโดยสรุปได้ว่า กองทุนรวมตราสารทุนในประเทศไทยส่วนหนึ่งสามารถสร้างผลตอบแทนที่มีความสม่ำเสมอได้ โดยจากค่าสหสัมพันธ์อันดับที่ของสเปียร์แมน (Spearman rank correlation) แสดงให้เห็นว่า ในช่วงปี พ.ศ. 2554-2555 เป็นช่วงระยะเวลาที่พบว่ามีความสม่ำเสมอของกองทุนรวมตราสารทุนที่ทำการศึกษามากที่สุด อย่างไรก็ตาม พีงระลึกไว้ว่า ความสม่ำเสมอของผลการดำเนินงานนี้ มาจากทั้งกองทุนรวมตราสารทุนที่มีผลการดำเนินงานที่ดีอย่างต่อเนื่องและแย่อย่างต่อเนื่อง แต่เนื่องจากงานวิจัยนี้ ตั้งอยู่บนพื้นฐานของนิยามความสม่ำเสมอของผลการดำเนินงานที่ครอบคลุมผลการดำเนินงานของกองทุนในระหว่าง 2 งวดเวลาที่ต่อเนื่องกัน ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ช่วงสั้นๆ เท่านั้น จึงเป็นที่น่าสนใจว่ากองทุนรวมตราสารทุนไทยจะมีความสม่ำเสมอของผลการดำเนินงานในระยะยาวหรือไม่ อันจะเป็นโอกาสในการทำวิจัยต่อไปในอนาคต