28 ตุลาคม 2556

ประสบความสำเร็จในชีวิตด้วย “ขนมมาร์ชมัลโล่” (The Marshmallow Test)

คำกล่าวไว้เสมอว่า การศึกษามีความสำคัญต่อการประสบสำเร็จในหน้าที่การงาน รวมไปถึงการประสบความสำเร็จในชีวิต คนที่เรียนหนังสือเก่งตั้งแต่เด็กๆ ย่อมมีโอกาสในการเลือกเรียนคณะที่ต้องการ เลือกงานที่ชอบทำ และประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานได้ดีกว่า จนไปถึงการเลือกคู่ครองที่ดีกว่าคนที่เรียนหนังสือไม่เก่ง ด้วยสาเหตุดังกล่าว จึงไม่น่าแปลกใจที่พ่อแม่จำนวนมากจึงให้ความสำคัญกับการศึกษาของลูก โดยพยายามอยากให้ลูกของตนเรียนหนังสือให้เก่งและสอบได้อันดับที่ดีๆ ในโรงเรียนที่ดีๆ โดยถ้าเป็นครอบครัวที่มีอันจะกินหน่อย ก็จะยิ่งพัฒนาสติปัญญาของลูกจากการเรียนพิเศษนอกห้องเรียนต่างๆ เพิ่มเติม เช่น เรียนดนตรี เรียนกีฬา เรียนเต้นรำ เรียนภาษา เป็นต้น

อย่างไรก็ดี ทักษะทางปัญญา (Cognitive Skill) ที่ได้รับจากการเรียนการสอนในห้องเรียน (หรือนอกห้องเรียน) เหล่านั้น อาจไม่ใช่เป็นปัจจัยเดียวที่จะบอกว่าเด็กคนนั้นจะประสบความสำเร็จในชีวิตหรือไม่ ทั้งนี้ทักษะทางการดำเนินชีวิต (Life Skill) หรือทักษะทางด้านอารมณ์ (Non-cognitive Skill) เองก็มีความสำคัญด้วยเช่นเดียวกัน โดยงานศึกษาทางจิตวิทยาจำนวนมากอธิบายว่า การพัฒนาทักษะทางด้านด้านอารมณ์ไม่ได้เกิดขึ้นมาจากในห้องเรียนแต่เพียงอย่างเดียว แต่แท้ที่จริงๆ แล้วเกิดขึ้นจากการเลี้ยงดูและจากประสบการณ์ที่คนๆ นั้นได้รับมาตั้งแต่แรกเกิด 

งานศึกษาทางจิตวิทยาลัยชิ้นหนึ่งที่ได้รับการกล่าวขวัญมากที่สุดชิ้นหนึ่ง ได้พยายามตอบข้อสงสัยดังกล่าวด้วยขนมมาร์ชมัลโล่ (Marshmallow) เพียงแค่ชิ้นเดียวเท่านั้น โดยงานศึกษานี้มีชื่อว่า “การทดสอบขนมมาร์ชมัลโล่ หรือ Marshmallow Test โดยเป็นการทดสอบเชิงทดลอง (Experimental Test) ที่ตอบคำถามว่า

  1. ทักษะทางด้านอารมณ์ที่สำคัญที่สุดในการอธิบายความสำเร็จของคนๆ หนึ่งนั้นได้แก่ “ทักษะในการการควบคุมคนเอง (Self-Control)” หรือ ทักษะที่ “สามารถรอคอยได้” (Control of Delaying Gratification) และ
  2. การประสบผลสำเร็จในชีวิตของคนๆ หนึ่ง นอกจากจะมาจากประสบการณ์ในการเรียนการสอนและการดำเนินชีวิตแล้ว ยังมาจากสิ่งที่คนๆ นั้นมาตั้งแต่แรกเกิด
  3. การศึกษาในระดับชั้นอนุบาลมีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่าระดับชั้นไหนๆ (หรืออาจจะสำคัญกว่าเสียด้วยซํ้า)


การทดสอบมาร์ชมัลโล่ (Marshmallow Test) ได้ถูกกระทำขึ้นในช่วงปลายปี ค.ศ.1960 ถึงต้น ค.ศ.1970 โดยศาสตราจารย์ Walter Mischel ซึ่งในขณะนั้นเป็นอาจารย์อยู่ที่มหาวิทยาลัยแสตนฟอร์ด (Stanford University) โดยได้ทำการทดสอบเด็กกว่า 600 คน ที่มีอายุระหว่าง 4-6 ขวบ ในโรงเรียนอนุบาลแห่งหนึ่ง โดยผู้ทำสอบให้เด็กเหล่านั้นเลือกขนมที่ตัวเองชอบ เช่น มาร์ชมัลโล่ คุ้กกี้ พาเซล ขนมเค้ก โดยให้เด็กนั่งอยู่บนโต๊ะในห้องนั้นคนเดียวพร้อมกับขนมที่ตัวเองชอบ 1 ชิ้น โดยผู้ทำการทดสอบได้บอกเด็กว่า หลังจากเขาเดินออกจากห้องแล้ว เด็กคนนั้นสามารถที่จะกินขนมได้ แต่ถ้าเด็กคนนั้นสามารถรอคอยที่จะไม่กินได้ถึง 15 นาที เด็กคนนั้นจะได้ขนมเพิ่มอีก 1 ชิ้น โดยผู้สังเกตการณ์ได้ทำการตรวจสอบพฤติกรรมของเด็กคนนั้นๆ ผ่านกระจกเงาทั้งสองด้านพร้อมกับการอัดวีดีโอเก็บไว้ โดยจากการสำรวจพฤติกรรมระหว่างที่ทำการทดสอบพบว่า เด็กบางคนใช้วิธีการปิดตาเพื่อจะไม่ได้เห็นขนมนั้น บางคนพยายามนั่งมองและตัดสินใจว่าจะกินดีหรือไม่ บางคนเตะโต๊ะ/ทุบโต๊ะ เด็กบางคนพยายามอดทดสักระยะจนท้ายที่สุดก็ไม่สามารถทำได้และตัดสินใจที่จะกินขนม และบางคนเลือกที่จะกินขนมนั้นทันทีเมื่อผู้สังเกตการณ์เดินออกจากห้อง

ในอีกหลายปีผ่านไป ทางทีมวิจัยได้ติดตามประเมินผลเด็กกลุ่มนั้น โดยครั้งแรกในปี ค.ศ.1988 พบว่าเด็กที่สามารถควบคุมตัวเองโดยไม่กินขนม (หรือรอคอยได้ในระยะเวลานานกว่าเพียง 2-3 นาที) จะเติบโตเป็นวัยรุ่นที่แข็งแรงกว่า (โดยทดสอบจากค่าดัชนีมวลรวมกาย) และมีโอกาสติดสารเสพติดน้อยกว่า 


การประเมินผลในครั้งที่สองในปี ค.ศ.1990 พบว่าเด็กที่สามารถควบคุมตัวเองโดยไม่กินขนมจะมีผลคะแนนการสอบเข้ามหาวิทยาลัย (หรือการสอบ SAT) สูงกว่าและสามารถเข้าเรียนในระดับมหาวิทยาลัยได้ดีกว่า

การประเมินครั้งที่ 3 ในปี ค.ศ.2011 ซึ่งเป็นช่วงที่เด็กเหล่านั้นอยู่ในวัยกลางคน โดยได้ทำสแกนสมองโดยพบว่า ผู้ใหญ่ที่ตอนเด็กได้ทำการทดสอบนี้และสามารถรอคอยที่จะไม่กินขนมได้นานกว่าจะมีระดับสมองที่มีทั้งสติปัญญาและมีทักษะทางอารมณ์ที่ดีกว่า ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานมากกว่า รวมถึงยังมีชีวิตการแต่งงานที่ดีกว่าด้วย 

การทดสอบมาร์ชเมลโล่นี้ได้ชี้ให้เห็นว่า การพัฒนาทุนมนุษย์ควรเริ่มทำตั้งแต่แรกเกิดโดยครอบครัวมีความสำคัญมาก ไม่ใช่จะรอจากระบบการเรียนการสอนในโรงเรียนแต่เพียงอย่างเดียว โดยเฉพาะการพัฒนาตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาล โดยการมีทักษะทางอารมณ์ที่ดีตั้งแต่วัยเด็กจะมีนัยสำคัญต่อคนๆ นั้นในอนาคต 



ไม่น่าเชื่อก็ต้องเชื่อครับว่า ความสามารถในการอดทนรอและการควบคุมตัวเองของเด็กอนุบาลวัยเพียง 4-6 ขวบจะมีนัยสำคัญต่อการประสบความสำเร็จในชีวิตได้มากขนาดนั้น ถ้าเรามาดูในโลกปัจจุบันที่เทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การดำเนินชีวิตที่ต้องแข่งขันเพื่อให้ทันกับโลกที่เปลี่ยนแปลงไป อันส่งผลทำให้เด็กในยุคนี้เริ่มที่จะมีความอดทนน้อยลง ซึ่งถ้าเรานำเอาผลที่พบจากการทดสอบมาร์ชมัลโล่ (Marshmallow Test) นี้มาวิเคราะห์ เราก็น่าจะสามารถพอเดากันได้ครับว่า “ทรัพยากรมนุษย์ในอนาคตของเรานั้นน่าเป็นห่วงเพียงใด?”