17 ตุลาคม 2556

ธรรมาภิบาลในการบริหารจัดการกองทุนรวมในประเทศไทย

ธุรกิจกองทุนรวมมีความสำคัญกับตลาดการเงินของไทยและมีแนวโน้มเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนและผู้จัดการกองทุนได้ทำหน้าที่เสมือนหนึ่งตัวแทนในการลงทุนให้กับผู้ถือหน่วยลงทุนซึ่งว่าจ้างให้ลงทุนผ่านการซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวม ดังนั้น ความเชื่อถือไว้วางใจ (Trust) จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้นักลงทุนเกิดความเชื่อมั่นในการที่จะให้ผู้จัดการกองทุนและบริษัทจัดการลงทุนดำเนินการเสมือนเป็นตัวแทนในการลงทุนให้



งานศึกษาของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณดา จันทร์สม จากคณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ที่ได้ตีพิมพ์ในวารสาร NIDA Economic Review เรื่อง “ธรรมาภิบาลในการบริหารจัดการกองทุนรวมในประเทศไทย” ได้ ระบุ ปัญหาที่เกิดขึ้นในธุรกิจกองทุนรวมมักจะเกิดจากการไม่สมมาตรของข้อมูล (Asymmetric Information) โดยส่วนมากเป็นเรื่องภาวะภัยทางศีลธรรม (Moral Hazard) ของผู้จัดการกองทุนและบริษัทจัดการลงทุน ซึ่งรูปแบบของพฤติกรรมไม่เหมาะสมในการบริหารจัดการกองทุน ได้แก่ การใช้ข้อมูลภายในเพื่อเอื้อประโยชน์ของตนเองและพวกพ้อง การสร้างกำไรให้พอร์ตส่วนตัว การเจาะจงนายหน้าค้าหลักทรัพย์เฉพาะรายเพื่อเอื้อประโยชน์ให้แก่บริษัทในเครือ การใช้กองทุนรวมเพื่อการหลบเลี่ยงภาษีของกลุ่มธุรกิจโดยเฉพาะกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ และการใช้กองทุนรวมเป็นช่องทางในการเลี่ยงการรายงานการถือครองทรัพย์สินของผู้มีอำนาจทางการเมือง หรือเป็นช่องทางในการฟอกเงิน 

นอกจากนั้น การกำกับดูแลบรรษัทภิบาลของบริษัทจำเป็นที่จะต้องพึ่งพาคณะกรรมการบริหารของบริษัทอย่างมาก โดยพบว่า การเผยแพร่ข้อมูลของคณะกรรมการบริษัทผ่านทางเว็บไซต์ไม่ได้สะท้อนให้เห็นถึงบทบาทของคณะกรรมการในการที่จะช่วยเป็นผู้ดูแลผลประโยชน์ของผู้ถือหน่วยลงทุนได้มากนัก จากการที่ผู้ถือหุ้นใหญ่ส่วนมากของบริษัทจัดการลงทุนจะมีความเชื่อมโยงกับสถาบันการเงินทั้งธนาคารพาณิชย์และบริษัทหลักทรัพย์ มีเพียงสองบริษัทเท่านั้นที่เป็นบริษัทมหาชนจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ทำให้บทบาทของคณะกรรมการบริหารของบริษัทจัดการลงทุนอาจไม่สอดคล้องกับเกณฑ์กำกับดูแลบรรษัทภิบาลของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เห็นได้จากการที่มีบริษัทจัดการลงทุนจำนวนมากที่มิได้เปิดเผยชื่อคณะกรรมการตรวจสอบและคณะกรรมการอิสระ ซึ่งเป็นผลให้ผู้ถือหน่วยลงทุนไม่อาจคาดหวังจากคณะกรรมการบริษัทในการที่จะมีบทบาทในการกำกับดูแลบรรษัทภิบาลของบริษัทจัดการลงทุนได้มากนัก

นอกจากบทบาทของคณะกรรมการบริหารที่จะต้องมีส่วนช่วยในการกำกับดูแลบรรษัทภิบาลของบริษัทจัดการลงทุนแล้ว บทบาทและหน้าที่ของผู้ลงทุนที่จะตัดสินใจลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุนรวมจะมีส่วนสำคัญในการพัฒนาธรรมาภิบาลในการบริหารจัดการกองทุนรวม จากการที่ผู้ลงทุนมักจะมิได้ศึกษาข้อมูลเพื่อประกอบการตัดสินใจลงทุนในกองทุนรวมอย่างรอบคอบ ทำให้เป็นช่องทางที่ผู้จัดการกองทุนและบริษัทจัดการลงทุนขาดความระมัดระวังในการดำเนินงานกองทุนรวม และเกิดภาวะภัยทางศีลธรรมได้ง่าย ดังนั้น เพื่อเป็นแรงกดดันให้ผู้จัดการกองทุนและบริษัทจัดการลงทุนดำเนินงานอย่างมีธรรมาภิบาลและคำนึงถึงผลประโยชน์ของผู้ถือหน่วยลงทุนเป็นหลัก นักลงทุนต้องมีบทบาทในการตรวจสอบและใช้ข้อมูลประกอบการตัดสินใจลงทุนที่สามารถสะท้อนถึงการบริหารจัดการที่ดีของกองทุนได้

งานศึกษาชิ้นนี้ยังมีข้อเสนอแนะต่อการพัฒนาธุรกิจจัดการกองทุนรวม ดังนี้
1.      ก.ล.ต. ควรเน้นการเพิ่มบทบาทของคณะกรรมการบริหารของบริษัทจัดการลงทุนให้มีบทบาทในการช่วยการกำกับดูแลบรรษัทภิบาลของบริษัทจัดการกองทุนรวม และรักษาผลประโยชน์ของผู้ถือหน่วยลงทุนเป็นหลักควบคู่กับผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นหรือมากกว่า โดยอาจยึดเกณฑ์มาตรฐานในการกำกับดูแลบรรษัทภิบาลตามมาตรฐานเดียวกับบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ฯ และเพิ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่สำคัญ คือ ผู้ถือหน่วยลงทุน
2.      บลจ.ควรเปิดเผยข้อมูลที่มากเพียงพอสำหรับนักลงทุนในการตัดสินใจการลงทุน โดยเฉพาะนโยบายการลงทุนที่มีรายละเอียดเพียงพอให้นักลงทุนคัดเลือกกกองทุนรวมได้ตามวัตถุประสงค์ของการลงทุน รวมถึงรายชื่อของผู้จัดการกองทุนที่รับผิดชอบ  และค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการกองทุน แต่ทั้งนี้ข้อมูลในส่วนนี้มีบริษัทเอกชนที่เข้ามาส่วนร่วมในการจัดทำข้อมูลเชิงเปรียบเทียบให้นักลงทุนได้ใช้ประโยชน์อยู่บ้างแล้ว ตัวอย่างเช่นเว็บไซต์ของบริษัทวิจัยมอนิ่งสตาร์  www.morningstarthailand.com แต่ยังมีข้อมูลบางส่วนที่การให้ข้อมูลของกองทุนรวมเป็นลักษณะภาพรวมมิได้ลงรายละเอียด เช่น นโยบายการลงทุน หรือการรายงานชื่อผู้จัดการกองทุนเป็นคณะบุคคล  ทำให้นักลงทุนไม่สามารถเลือกกองทุนที่ตรงกับความต้องการอย่างลึกซึ้งได้ หรือมิอาจประเมินผลการดำเนินงานของผู้จัดการกองทุนเป็นราย ๆ ได้
3.      เนื่องจากนักลงทุนรายย่อยของไทยยังขาดความรู้และประสบการณ์ในการจัดสรรการลงทุนที่ตรงกับระดับการยอมรับความเสี่ยง ทำให้เสียโอกาสในการลงทุนเพื่อสร้างมั่นคงทางการเงินในระยะยาวให้แก่ตนเอง เนื่องจากมีระดับความรู้ทางการเงิน (Financial Literature) ไม่มากนัก หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สถาบันความรู้ตลาดทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ควรมีบทบาทในการส่งเสริมการให้ความรู้กับนักลงทุนเพื่อสามารถเลือกใช้ข้อมูลที่จะเป็นประโยชน์ต่อการตัดสินใจลงทุนในกองทุนรวมได้อย่างรอบด้าน อีกทั้ง บลจ. ควรมีบทบาทในการให้ข้อมูลในเชิงการแนะนำการวางแผนทางการเงินให้แก่นักลงทุน
4.      ก.ล.ต. และสมาคมบริษัทจัดการลงทุนควรมีบทบาทในการสร้างบรรยากาศการขายกองทุนรวมที่จะช่วยให้เกิดการเปรียบเทียบผลการดำเนินงานของกองทุนรวมได้ง่าย เพื่อให้นักลงทุนสามารถเข้าถึงข้อมูลก่อนการตัดสินใจลงทุนในกองทุนได้อย่างครบถ้วน เช่น การเปรียบเทียบผลการดำเนินงานของกองทุนหลาย ๆ กองทุนเพื่อประกอบการตัดสินใจ การใช้เครื่องมือการส่งเสริมการขายที่แข่งขันกันรุนแรงด้วยการลดแลกแจกแถม ทำให้การตัดสินใจลงทุนของนักลงทุนถูกบิดเบือนไป ดังนั้น ผู้มีที่เกี่ยวข้องจึงต้องสร้างบรรยากาศและกลไกเพื่อเพิ่มแรงจูงใจในการขายหน่วยลงทุน และสร้างบรรยากาศในการให้คำแนะนำในการลงทุนที่เน้นประโยชน์ของนักลงทุนเป็นหลักให้เกิดขึ้นได้
5.      ก.ล.ต.และสมาคมบริษัทจัดการลงทุนควรมีบทบาทในการส่งเสริมและสนับสนุนนักลงทุนให้ตัดสินใจภายใต้การใช้ข้อมูลที่เพียงพอต่อการตัดสินใจด้วยการให้ความรู้และสร้างบรรยากาศที่จะกระตุ้นให้นักลงทุนตระหนักถึงความสำคัญของการใช้ข้อมูลให้รอบด้าน การจัดเวทีเพื่อให้ความรู้นักลงทุนอย่างสม่ำเสมอ รวมถึงการสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาเพื่อช่วยการส่งเสริมและกระตุ้นให้นักลงทุนตระหนักถึงความสำคัญของการใช้ข้อมูลที่จำเป็นก่อนการตัดสินใจลงทุน รวมถึงการสร้างความมั่นใจในทางที่ถูกต้องเกี่ยวกับการลงทุนในกองทุนรวมตราสารทุน
6.      ก.ล.ต. สมาคมบริษัทจัดการลงทุน และบ.ล.จ. ควรต้องมีบทบาทร่วมกันในการปลุกจิดสำนึกและจริยธรรมในการบริหารจัดการกองทุนรวมให้แก่ผู้จัดการกองทุน การนำเสนอข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานที่ผิดจริยธรรม และการสร้างบรรยากาศของการกระตุ้นเตือนให้ผู้จัดการกองทุนตระหนักถึงความสำคัญของจริยธรรมและระมัดระวังในการลงทุนควรเกิดขึ้นอย่างสม่ำเสมอ
7.      เนื่องจากกองทุนรวมทำหน้าที่เป็นตัวแทนในการลงทุนให้แก่นักลงทุนรายย่อย กองทุนรวมควรมีบทบาทในการตรวจสอบและติดตามการดำเนินงานของหลักทรัพย์ที่ลงทุนแทนนักลงทุนรายย่อย เช่น สิทธิในการออกเสียง การเข้าประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้น เพื่อรักษาผลประโยชน์ของการลงทุนให้แก่นักลงทุน  และส่งเสริมบรรษัทภิบาลในตลาดทุนของไทย


สำหรับผู้ที่สนใจอ่านงานวิจัยชิ้นนี้ สามารถ download ได้ที่ http://www.econ.nida.ac.th/components/com_booklibrary/ebooks/7-5.pdf