13 ตุลาคม 2556

“กองทุนรวม” กับ “การพัฒนาประเทศ”

กองทุนรวมถือได้ว่าเป็นเครื่องมือทางการเงินหนึ่งที่มีบทบาทมากขึ้นต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจของประเทศ เนื่องจากกองทุนรวมเป็นเครื่องมือในการระดมเงินออม หรือทุนเพื่อการขับเคลื่อนกิจกรรมทางเศรษฐกิจของ แนวโน้มของการเพิ่มขึ้นของการลงทุนในกองทุนรวมในหลายประเทศทั้งประเทศที่มีระบบการเงินที่พัฒนาก้าวหน้า และประเทศที่มีระบบการเงินพัฒนาน้อยกว่า แสดงให้เห็นถึงความน่าสนใจของการใช้กองทุนรวมในการเป็นทางเลือกสำหรับการออม และความต้องการในการใช้กองทุนรวมเป็นเครื่องมือทางการเงินในการระดมเงินทุนเพื่อก่อให้เกิดการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน ในปัจจุบันพบว่า โดยทั่วไปประเทศที่มีระดับการพัฒนาสูงกว่า จะมีระดับรายได้สูงกว่า และจะเป็นประเทศที่มีปริมาณทุนมากเพียงพอต่อการพัฒนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งความต้องการทุนเพื่อการพัฒนาสินค้าและบริการสาธารณะ (Public goods and services) ที่มีความจำเป็นต่อการยกระดับสวัสดิการสังคมของประเทศ (National Welfare) ดังนั้น การเพิ่มขึ้นของการสะสมทุนจะทำให้ประเทศมีปริมาณเงินทุนเพียงพอต่อการพัฒนาประเทศ ทำให้ประเทศมีขีดความสามารถในการแข่งขันสูงขึ้น และสามารถก่อให้เกิดการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน กองทุนรวมจึงเป็นเครื่องมือหนึ่งทางการเงินที่จะสามารถนำมาใช้ในการส่งเสริมให้เกิดการสะสมทุนภายในประเทศ ทำให้สามารถดึงดูดเงินทุนจากต่างประเทศเพื่อตอบสนองความต้องการเงินทุนในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ 



งานศึกษาของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สันติ ชัยศรีสวัสดิ์สุข และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วิศิษฏ์ ชัยศรีสวัสดิ์สุข อาจารย์ประจำคณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ได้ศึกษาถึงบทบาทของกองทุนรวมกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศไทยโดยพบว่า กองทุนรวมมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมการขยายตัวทางเศรษฐกิจในหลายๆ ทางได้แก่

1)                           กองทุนรวมช่วยลดต้นทุนทางการเงินสำหรับการระดมทุน โดยกองทุนรวมเป็นเครื่องมือทางการเงินที่สามารถลดต้นทุนในการระดมเงินทุนของผู้ต้องการเงินทุนได้ ทำให้ภาคธุรกิจที่มีความจำเป็นต้องใช้เงินทุนมีความได้เปรียบจากการที่สามารถมีต้นทุนทางการเงินที่ต่ำลง การบริหารจัดการของกองทุนเป็นการระดมเงินออมจากผู้ออม หรือผู้สนใจลงทุนจำนวนมากเพื่อนำเงินทุนที่ได้ไปลงทุนในกิจกรรมที่เฉพาะเจาะจงตามวัตถุประสงค์ของการจัดตั้ง

2)                           กองทุนรวมเป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการความเสี่ยง โดยพัฒนาการของตลาดการเงินทำให้เกิดตราสารทางการเงินจำนวนมากเพื่อการเลือกใช้ในการบริหารจัดการความเสี่ยง และสร้างผลตอบแทนที่สูงขึ้น ความเสี่ยงทางเศรษฐกิจที่เพิ่มมากขึ้นเป็นลำดับสะท้อนให้เห็นถึงความจำเป็นและความต้องการที่จะต้องมีการบริหารจัดการความเสี่ยงอย่างมีประสิทธิภา

3)                           ผู้ออมมีโอกาสที่จะได้รายได้สูงขึ้นในรูปของผลตอบแทนจากการลงทุนในกองทุนรวม (Wealth Channel) โดยกอลทุนรวมเป็นการลงทุนในกองทุนรวมเป็นการเพิ่มโอกาสในการได้รับผลตอบแทนที่สูงขึ้น สอดคล้องกับระดับความเสี่ยงที่ผู้ออมจะสามารถยอมรับได้ ผลตอบแทนที่สูงขึ้นจากการลงทุน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลงทุนในระยะยาว

4)                           กองทุนรวมเป็นการเพิ่มช่องทางงบดุล (Balance Sheet Channel) โดยในภาคธุรกิจเอกชน การระดมทุนผ่านกองทุนการเงินเป็นทางเลือกในการระดมทุนที่มีผลกระทบต่อโครงสร้างของงบดุลน้อยกว่าการกู้ยืม มีผลทำให้ต้นทุนในการระดมทุนต่ำลง นอกจากนี้ กองทุนการเงินยังเป็นช่องทางธุรกิจจะใช้เพื่อการระดมเงินทุนที่ต้องการโดยที่มีผลกระทบต่อสถานะของธุรกิจในงบดุลน้อยกว่า ทำให้ธุรกิจสามารถระดมเงินทุนที่จำเป็นจำนวนมากได้

5)                           กองทุนรวมช่วยกระตุ้นการบริโภคของคนในประเทศ โดยกองทุนรวมและการบริโภคของไทย  โดยกองทุนจะมีบทบาทต่อการตัดสินใจบริโภคของทั้ง 3 กลุ่ม ในการ 1) เพิ่มปริมาณการบริโภคจากรายได้ที่เพิ่มขึ้นของรายได้ผลตอบแทนจากการลงทุน และ 2) ทำให้เกิดพฤติกรรมการบริโภคที่สม่ำเสมอ มีเสถียรภาพ (Smoothing consumption) เพราะกองทุนทำให้สามารถบริหารพฤติกรรมการบริโภคได้ดีขึ้น มีการวางแผนการบริโภคตลอดช่วงอายุขัยสอดคล้องกับหลักของ Permanent income hypothesis ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในแง่การลดความผันผวนทางเศรษฐกิจในระยะยาว

นอกจากนี้ ในงานศึกษาชิ้นนี้อาศัยการวิเคราะห์อนุกรมเวลาในการทดสอบความสัมพันธ์เชิงดุลยภาพในระยะยาว (Co-integration Analysis) ของตัวแปรทางเศรษฐกิจที่สนใจ โดยแบ่งเป็น 3 แบบจำลอง ได้แก่ การทดสอบความสัมพันธ์เชิงดุลยภาพในระยะยาวของอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจกับการขยายตัวของกองทุนรวม การทดสอบความสัมพันธ์เชิงดุลยภาพในระยะยาวของการบริโภคต่อการเติบโตของกองทุนรวม และการทดสอบความสัมพันธ์เชิงดุลยภาพในระยะยาวของการลงทุนและการขยายตัวของกองทุนรวม อาศัยการวิเคราะห์อนุกรมเวลาในการทดสอบความสัมพันธ์เชิงดุลยภาพในระยะยาว (Co-integration Analysis) ของตัวแปรทางเศรษฐกิจที่สนใจ

ผลการศึกษาพบว่า ร้อยละ 1 ของการเติบโตของกองทุนรวมจะทำให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจได้ร้อยละ 0.21 (ถ้ากองทุนขยายตัว 20,000 ล้านบาทจะทำให้เกิดการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศได้ประมาณ 2,800 ล้านบาท) โดยกองทุนรวมทำหน้าที่ในการสนับสนุนให้มีทางเลือกในการระดมทุนที่หลากหลายมากขึ้น และมีต้นทุนของเงินทุนที่ต่ำลง ซึ่งเป็นการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศได้ทางหนึ่ง จึงเป็นส่วนประกอบที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของไทย และช่วยยกระดับรายได้โดยเฉลี่ยของประเทศ

ทางด้านการบริโภค กองทุนรวมมีส่วนในการสนับสนุนการขยายตัวของการบริโภค โดยร้อยละ 1 ของการขยายตัวของกองทุนรวม ทำให้เกิดการเติบโตของการบริโภคได้ร้อยละ 0.19 บทบาทของกองทุนรวมต่อการบริโภคเกิดจากการขยายตัวของรายได้ และลดความผันผวนของรายได้ในระยะยาว เพราะผู้ลงทุน หรือผู้ออม มีโอกาสที่จะได้รับผลตอบแทนที่เหมาะสม และสม่ำเสมอในช่วงเวลาของการลงทุน สอดคล้องกับระดับความเสี่ยงที่ผู้ลงทุนยอมรับ ทำให้สามารถเพิ่มการบริโภคได้

นอกจากนี้ยังพบว่า กองทุนรวมทำหน้าที่ได้ดีในการเป็นสื่อกลางทางการเงินในการส่งเสริมการระดมเงินทุนในระบบเศรษฐกิจทั้งทางด้านปริมาณเงินทุนที่ต้องการ และการเป็นทางเลือกในตลาดทุน ซึ่งเป็นการตอบสนองความต้องการเงินทุนเพื่อการลงทุน พบว่า ในกรณีของประเทศไทย การเติบโตของกองทุนรวมร้อยละ 1 จะส่งเสริมให้เกิดการขยายตัวทางด้านการลงทุนได้ร้อยละ 0.24 ในระยะยาว


ผลการศึกษาที่พบนี่สนับสนุนความสำคัญของตลาดกองทุนรวม พร้อมทั้งนโยบายที่จะเอื้อไปสู่การพัฒนากองทุนรวมของไทยในอนาคต เพื่อให้กองทุนรวมเป็นเครื่องมือหนึ่งที่จะมีบทบาทต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ