03 ตุลาคม 2556

แนวโน้มเศรษฐกิจมหภาคและตลาดกองทุนรวมไทย

ความสามารถในการเข้าถึงตลาดเงินและตลาดทุนของประชาชนมีความสำคัญเนื่องจากเป็นเครื่องมือในเก็บรักษาและเพิ่มผลตอบแทนของเงินออมนอกจากจะช่วยเพิ่มแรงจูงใจในการออมซี่งเป็นปัจจัยที่มีบทบาทต่อการการลงทุนและการพัฒนาเศรษฐกิจในภาพรวมแล้ว ยังมีผลต่อการสะสมความมั่งคั่งของประชาชนในระบบเศรษฐกิจซึ่งมีผลต่อทั้งการใช้จ่ายและความมั่นคงในยามเกษียณอายุ

ในปัจจุบัน ตลาดเงินตลาดทุนไทยมีพัฒนาการทั้งในด้านของขนาดและความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ ซึ่งช่วยเพิ่มทางเลือกในลงทุนทางการเงินแก่ประชาชนโดยทั่วไปที่มีเงินออม อย่างไรก็ตามข้อจำกัดสำคัญในการลงทุนของผู้มีเงินออมรายย่อยที่สำคัญคือการขาดความรู้และความชำนาญในการลงทุน  รวมถึงข้อจำกัดด้านเวลาในการศึกษาติดตามข้อมูลการลงทุน และข้อจำกัดด้านจำนวนเงินลงทุนที่น้อยทำให้ไม่สามารถกระจายการลงทุนในหลักทรัพย์ได้อย่างเหมาะสม ดังนั้น กองทุนรวมจึงเครื่องมือในการลงทุนสำหรับผู้ลงทุนรายย่อยที่มีข้อจำกัดในการลงทุนข้างต้นในการนำเงินมาลงทุน ที่ผ่านมาตลาดกองทุนรวมไทยได้มีการพัฒนาครอบคลุมกองทุนประเภทต่างๆ ตามลักษณะของสินทรัพย์ที่ลงทุนประกอบด้วย กองทุนตราสารหนี้ กองทุนตราสารทุน กองทุนผสม กองทุนอสังหาริมทรัพย์ และกองทุนที่มีลักษณะพิเศษอื่นๆ นอกจากนี้ ยังมีการแบ่งประเภทตามเงื่อนไขเฉพาะในการลงทุน เช่น กองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) กองทุนเพื่อการเกษียณอายุ (RMF) และกองทุนรวมที่มีการลงทุนในสินทรัพย์ต่างประเทศ (FIF)



งานศึกษาของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ยุทธนา เศรษฐประโมทย์ จากคณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ที่ได้ทำการศึกษาแนวโน้มการเจริญเติบโตของกองทุนรวมในประเทศไทย โดยตีพิมพ์งานศึกษาดังกล่าวไว้ในวารสาร NIDA Economic Review  เล่มที่ 7 ฉบับที่ 2 (วารสารฉบับพิเศษเรื่อง ไขปริศนากองทุนรวมไทย”) โดยเปรียบเทียบกับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจมหภาคของประเทศพบว่า ระดับรายได้และอัตราผลตอบแทนจากการลงทุนเป็นปัจจัยสำคัญที่กำหนดการเติบโตของกองทุนรวมในเกือบทุกประเภท โดยกองทุนรวมตราสารหนี้มีแนวโน้มการเติบโตสูงกว่ากองทุนรวมประเภทอื่นๆ (กองทุนรวมตราสารทุน, กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์, กองทุนรวมผสม และกองทุนรวมที่มีลักษณะเฉพาะอื่นๆ) อย่างเห็นได้ชัด  ผลการประมาณการจากแบบจำลองเศรษฐมิติมหภาคของสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์คาดว่าแนวโน้มของกองทุนรวมไทยใน 1-2 ปีข้างหน้าจะเติบโตในอัตราประมาณร้อยละ11.3 – 14.3 ซึ่งสูงกว่าอัตราการขยายตัวของของรายได้ประชาชาติ ณ ราคาปีปัจจุบัน ที่ประมาณร้อยละ 8 (อัตราการขยายตัวของรายประชาชาติที่แท้จริงร้อยละ 5 บวกอัตราเงินเฟ้อร้อยละ 3)  ดังนั้นหากกองทุนรวมไทยเติบโตในอัตราร้อยละ 12.8 (ตามค่าเฉลี่ยของอัตราการเติบโตทางคาดการณ์ในปี 2556-2557) อย่างต่อเนื่อง จะทำให้อัตราส่วนของตลาดกองทุนรวมไทยต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ จะเพิ่มจากประมาณร้อยละ 21 ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ ในปี 2555 เป็นร้อยละ 38 (เท่ากับสัดส่วนในประเทศเกาหลีปัจจุบัน) ในประมาณปี 2567-2570

จากผลการศึกษาข้างต้นมีนัยต่อผลเชิงนโยบายด้านตลาดทุน โดยสามารถสรุปข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย โดยมาตรการสิทธิประโยชน์ทางภาษีมีผลต่อผลตอบแทนของตลาดกองทุนรวมไทยทั้งกองทุนรวมตราสารทุนและตราสารหนี้ ดังนั้น หากรัฐบาลจะส่งส่งเสริมการขยายตัวของตลาดกองทุนรวมโดยเฉพาะตลาดกองทุนตราสารทุน มาตรการยกเว้นภาษีเงินได้ยังคงมีความจำเป็น

อย่างไรก็ตาม การขยายตัวของตลาดกองทุนรวมไทย มีการเอนเอียงที่ตลาดตราสารหนี้โดยเฉพาะกองทุนรวมประเภท Term Fund ซึ่งมีลักษณะทดแทนเงินฝากประจำธนาคารพาณิชย์ ดังนั้นหากรัฐบาลต้องการดูแลสัดส่วนของกองทุนรวมตราสารทุนและตราสารหนี้ใกล้เคียงกันเหมือนในต่างประเทศ ควรมีการออกมาตรการควบคุมไม่ให้มีการนับอัตราผลตอบแทนจากกองทุนประเภท Term Fund ในรูป Capital Gain โดยหากต้องการส่งเสริมให้ตลาดกองทุนรวมไทยมีสัดส่วนที่สูงขึ้นใกล้เคียงกับต่างประเทศ เช่น เกาหลี มาตรการส่งเสริมทางภาษีควรมีอยู่ถึงประมาณปี 2567-2570